ใครที่กำลังมองหาวิธีที่จะทำให้เงินงอกเงยโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นหนทางที่ไม่ทำให้เครียดจนเกินไป บทความนี้จะพาทุกคนไปเริ่มต้นด้วยการโฟกัสที่การจัดการเงินออม การลงทุน และการลดหย่อนภาษี ซึ่งการออมและการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นสองปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และการเข้าใจเรื่องลดหย่อนภาษีก็จะทำให้คุณจัดสรรเงินได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น เพียงเข้าใจใน 3 ข้อนี้ก็จะช่วยให้การเงินของคุณเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่องได้
1. จัดการเงินออม จุดเริ่มต้นแรกของการเก็บออมเงินให้ได้ผล
การออมเงินเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางการเงิน เป็นการสร้างความปลอดภัยทางการเงินในยามฉุกเฉิน การออมที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจากการจัดการรายจ่ายอย่างชาญฉลาด ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ 2 วิธี คือ
ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
การตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เป็นก้าวแรกของการออมที่มีประสิทธิภาพ รายจ่ายที่ไม่จำเป็นอาจดูเหมือนเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อรวมกันแล้วสามารถทำให้เงินออมลดลงได้ และทุกวันนี้มักมีกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย เช่น โปรโมชันลดราคา ของแถม หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินความจำเป็นได้
ดังนั้น วิธีแก้ไขที่เริ่มได้เลยตั้งแต่วันนี้ คือก่อนที่จะใช้จ่ายอะไรแนะนำให้สร้างทางเลือกให้ตัวเองเพิ่มขึ้น โดยลองเปรียบเทียบราคาสินค้าทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ หรือจัดเวลาในการเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะสมกับงบประมาณส่วนที่กันไว้สำหรับใช้จ่ายโดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าในช่วงเวลาลดราคาทั้งที่สินค้านั้นยังไม่หมดหรือไม่จำเป็นต้องใช้ ตัวอย่างเช่น
- ค่ากาแฟหรือค่าอาหาร : เปลี่ยนมาทำกาแฟดื่มเองที่บ้าน หรือหาสินค้าที่มีราคาเหมาะสมเพื่อสลับกับการซื้อสินค้าราคาแพงบ้างในบางครั้ง หรือสลับระหว่างการทานอาหารในร้านอาหารทั่วไปแทนการทานอาหารที่ร้านอาหารในห้างฯ ซึ่งอาจมีราคาสูงกว่า
- ค่าสังสรรค์ : จัดกิจกรรมที่ใช้เงินน้อยกว่า หรือเลือกจัดปาร์ตี้ที่บ้านแทนการออกไปร้านอาหาร หรือใช้โปรโมชัน Happy Hour ในการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ
เพิ่มรายได้
การเพิ่มรายได้เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมสภาพคล่องและช่วยให้มีเงินออมมากขึ้น รายได้มีหลายประเภท เช่น รายได้ที่เกิดจากการทำงานโดยตรง (Active Income) รายได้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องทำงานหรือมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ (Passive Income) เช่น ค่าเช่า หรือดอกเบี้ยจากการลงทุน ประเภทของรายได้สามารถแยกย่อยได้ ดังนี้
- รายได้หลัก : เป็นรายได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างจากการทำงานประจำ ซึ่งมักมีความสม่ำเสมอ ช่วยให้ผู้มีรายได้สามารถวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง การเพิ่มรายได้จากรายได้ประเภทนี้ อาจมาจากการทำงานล่วงเวลาหรือการได้เลื่อนตำแหน่ง
- รายได้เสริม : มาจากงาน Part-time, Freelance หรือการขายของออนไลน์ เป็นช่องทางที่คุณสามารถเพิ่มรายได้จากการทำงานนอกเวลาทำงานประจำหรือในช่วงเวลาว่างได้
- รายได้จากการลงทุน : อาจมาจากดอกเบี้ยจากการฝากเงิน เงินปันผลจากหุ้น หรือค่าเช่าจากการปล่อยอสังหาริมทรัพย์ การเพิ่มรายได้ด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างนิยมนำมาช่วยให้เงินงอกเงย แต่ต้องระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเอาไว้เสมอ
- รายได้พิเศษ : โบนัส คอมมิชชัน เป็นรายได้อีกประเภทหนึ่ง โดยมักมีลักษณะเป็นรายได้ไม่ประจำ แต่เมื่อได้มาแล้วสามารถนำไปเป็นเงินออมได้ เพราะมักมีลักษณะเป็นเงินก้อน
2. ลงทุนให้เป็น เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างความมั่งคั่ง
การลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มพูนเงินออม แต่ต้องเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินของคุณและศึกษาทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วน เพราะอย่างที่ทราบกันว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นสำหรับมือใหม่หรือใครที่อยากลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมจากเดิม แนะนำให้เลือกวิธีลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่สามารถสร้างความมั่งคั่งทางการเงินได้จริง ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายตัวเลือก แต่วันนี้เราขอแนะนำการลงทุน 2 ประเภทที่น่าสนใจ คือ
การลงทุนด้วยวิธี DCA (Dollar-Cost Averaging)
DCA (Dollar-Cost Averaging) คืออะไร ?
Dollar-Cost Averaging (DCA) หรือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน คือวิธีการลงทุนที่เน้นการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กันในแต่ละงวด โดยไม่คำนึงถึงราคาของหลักทรัพย์ในขณะนั้น ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง วิธีนี้เหมาะสมสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาดมากนัก
ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA
การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนมีข้อดีคือ ช่วยสร้างวินัยในการลงทุน เพราะเป็นการลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน มีการกำหนดงบประมาณการลงทุนที่แน่นอน และที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจผิดพลาดในการจับจังหวะตลาดได้
การลงทุนด้วยวิธี DCA สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งหุ้นและกองทุน ขึ้นอยู่กับความต้องการและการพิจารณาของแต่ละคน เช่น การลงทุน LTF หรือ กองทุนหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนไทยมีการลงทุนในหุ้นมากขึ้น และยังสามารถนำเงินที่ลงทุนใน LTF มาลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด
เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น ไปดูตัวอย่างการลงทุนด้วยวิธี DCA ในเบื้องต้นพร้อม ๆ กัน
ตัวอย่างการลงทุนกองทุน LTF ด้วยวิธี DCA
คุณ A ต้องการลงทุนในกองทุน LTF และใช้วิธีการ DCA เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว จึงตัดสินใจลงทุน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี (12 เดือน) โดยในแต่ละเดือน ราคาต่อหน่วยของกองทุน LTF อาจขึ้นลงตามภาวะตลาดหุ้น
ตารางด้านล่างแสดงสถานการณ์สมมติการลงทุนในกองทุน LTF ด้วยวิธี DCA ของคุณ A:
เดือน | จำนวนเงินลงทุน (บาท) | ราคาหน่วยลงทุน (บาท) | จำนวนหน่วยที่ซื้อได้ (หน่วย) |
---|---|---|---|
มกราคม | 5,000 | 10 | 500 |
กุมภาพันธ์ | 5,000 | 12 | 416.67 |
มีนาคม | 5,000 | 9 | 555.56 |
เมษายน | 5,000 | 11 | 454.55 |
พฤษภาคม | 5,000 | 13 | 384.62 |
มิถุนายน | 5,000 | 20 | 500 |
กรกฎาคม | 5,000 | 9 | 555.56 |
สิงหาคม | 5,000 | 12 | 416.67 |
กันยายน | 5,000 | 11 | 454.55 |
ตุลาคม | 5,000 | 14 | 357.14 |
พฤศจิกายน | 5,000 | 10 | 500 |
ธันวาคม | 5,000 | 12 | 416.67 |
การคำนวณ:
- จำนวนเงินลงทุนทั้งหมด: 5,000 บาท x 12 เดือน = 60,000 บาท
ราคาต่อหน่วยเฉลี่ย:
คุณ A ลงทุนอย่างสม่ำเสมอโดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุนจะขึ้นหรือลง ซึ่งในช่วงเวลา 12 เดือนนี้ ราคาหน่วยลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11 บาทต่อหน่วย (ราคาหน่วยลงทุนสูงสุดคือ 14 บาท และต่ำสุดคือ 9 บาท) แต่เนื่องจากใช้วิธี DCA ซื้อในแต่ละเดือนทั้งตอนที่ราคาต่ำและสูง ผลที่ได้คือสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวนมากเมื่อราคาต่ำ และซื้อหน่วยลงทุนจำนวนน้อยเมื่อราคาสูง ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของคุณ A ต่ำกว่า 11 บาท
อย่างไรก็ตาม หากคุณสนใจใช้วิธี DCA ก็ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้รู้พื้นฐานและทราบถึงข้อจำกัดของวิธีการลงทุนแบบนี้ และตระหนักไว้เสมอว่าให้เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเองด้วย
การลงทุนป้องกันความเสี่ยงด้วยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์
นอกเหนือจากการลงทุนด้วยวิธี DCA แล้ว สำหรับผู้ที่มองหาการลงทุนที่มั่นคงและปลอดภัย การลงทุนป้องกันความเสี่ยงด้วยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม เพราะการลงทุนในประกันเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับคุณ แต่ยังเป็นวิธีการออมเงินที่มีการคุ้มครองชีวิตควบคู่ไปด้วย (สำหรับบางแผนประกัน) นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีที่ช่วยให้คุณสามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วันนี้เรามีประกันที่ให้ความคุ้มครองที่คุ้มค่ามาแนะนำกัน นั่นก็คือประกันบำนาญและประกันสะสมทรัพย์ จากกรุงเทพประกันชีวิตออนไลน์ หรือ Bangkok Life Assurance
- ประกันบำนาญ แฮปปี้ เพนชั่น (มีเงินปันผล)
การันตีรับเงินบำนาญคืนทุกปี ตั้งแต่อายุ 60 – 99 ปี
จุดเด่นของประกัน
- ระยะเวลาคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี
- เลือกระยะเวลาชำระเบี้ยฯ ได้ 1 ปี (ครั้งเดียวจบ)/ 5 ปี/ 10 ปี หรือจนถึงอายุ 60 ปี
- มีโอกาสรับเงินบำนาญเพิ่มพิเศษตลอดสัญญา1,2
- ระยะเวลาชำระเบี้ยฯ ครั้งเดียว จำนวนเงินเอาประกันภัยเริ่มต้น 20,000,000 บาท
- ระยะเวลาชำระเบี้ยฯ 5 ปี, 10 ปี และจนถึงอายุ 60 ปี จำนวนเงินเอาประกันภัยเริ่มต้น 50,000 บาท
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาทต่อปี3 เป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ บีแอลเอ ฟาสต์ รีเทิร์น 10/2
กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รับผลประโยชน์เพิ่ม 200%4
จุดเด่นของประกัน
- ปีกรมธรรม์ที่ 3 รับเงินก้อนคืน 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
- จ่ายเบี้ยสั้น 2 ปี คุ้มครองชีวิตยาว 10 ปี
- จำนวนเงินเอาประกันภัยเริ่มต้น 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาท
- คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี รับ 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย5
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทต่อปี เป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด
- ประกันสะสมทรัพย์ บีแอลเอ สมาร์ทเซฟวิ่ง 10/1
รับเงินคืนรวมตลอดสัญญา 117.5% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
จุดเด่นของประกัน
- มอบความคุ้มครองชีวิต 10 ปี ชำระเบี้ยประกันครั้งเดียวจบ
- รับเงินคืนทุกปี ปีละ 1.75% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
- ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญา 117.5% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทต่อปี เป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด
3. ลดหย่อนภาษี จัดสรรได้ดี ออมเงินได้มากขึ้น
การวางแผนจัดการภาษีที่ดีจะช่วยให้คุณลดค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีและสามารถแบ่งสรรปันส่วนไปออมเงินได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นหากใครอยากให้เงินงอกเงยมากขึ้น การลดหย่อนภาษีเป็นอีกข้อหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ
นิยามของคำว่า “ภาษี” และวิธีการคำนวณภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่รัฐจัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งสูตรคำนวณภาษีเงินได้คือ
- รายได้สุทธิ = รายได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
- ภาษีที่ต้องจ่าย = รายได้สุทธิ x อัตราภาษี
สำหรับอัตราภาษีในการคำนวณจะเป็นอัตราภาษีตามขั้นบันไดที่มีทั้งหมด 8 ขั้น เริ่มตั้งแต่เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไปจนถึงเงินได้สุทธิมากกว่า 5,000,000 บาท ที่มีอัตราภาษีอยู่ที่ 35%
ตารางเปรียบเทียบประเภทเงินได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษี
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดให้เงินได้แต่ละประเภทสามารถหักค่าใช้จ่าย (ต้นทุน) ออกก่อนแล้วจึงนำเงินได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้วทั้งหมดไปหักลดหย่อน เพื่อให้ได้รายได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษาข้อมูลการลดหย่อนแบบละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร**
ประเภทเงินได้ | หักค่าใช้จ่าย |
---|---|
1. เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส เบี้ยเลี้ยง ฯลฯ 2. เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ฯลฯ | 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากมีเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท |
3. ค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา หรือค่า Goodwill | 50% แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท หรือตามที่จ่ายจริง |
4. ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร ฯลฯ | หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ |
5. เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน | ตามจริงหรืออัตราเหมา |
– บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ | 30% |
– ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร | 20% |
– ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร | 15% |
– ยานพาหนะ | 30% |
– ทรัพย์สินอื่น | 10% |
– ทรัพย์สินอื่น การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน | หักเป็นการเหมาได้ 20% วิธีเดียว |
6. วิชาชีพอิสระ | ตามจริงหรืออัตราเหมา |
– การประกอบโรคศิลปะ | 60% |
– วิชากฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม | 30% |
7. เงินได้จากการรับเหมา (ผู้รับเหมาต้องลงทุน จัดหาสัมภาระสำคัญนอกจากเครื่องมือ) | ตามจริงหรืออัตราเหมา 60% |
8. รายได้อื่น นอกเหนือจาก 1-7* | ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60% |
ค่าลดหย่อน |
---|
การหักลดหย่อนหลัก – ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท – คู่สมรส (ที่ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท – บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน** – ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์ – ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หักค่าลดหย่อนคนละ 30,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท – ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท** – เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท ค่าลดหย่อนเพื่อการลงทุนและอื่น ๆ – ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท** – ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส ลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท** – เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างให้หักจากเงินได้ – เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีในปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท** – ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ ต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปถึงอายุ 85 ปีหรือกว่านั้น และเมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท – เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท – ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน ต้องไม่เกิน 200,000 บาท** – เงินบริจาค เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และโรงพยาบาลรัฐ ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน – เงินบริจาคอื่น หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน สิทธิลดหย่อนจากมาตรการรัฐ – ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี – โครงการ Easy e-Receipt สามารถนำใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงรวม VAT แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และจะต้องมีใบกำกับภาษีและ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ตามระบบของกรมสรรพากร |
การออม 5 ประเภทที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
การออมเงินนอกจากจะช่วยให้เรามีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคตแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยหากเลือกออมได้ถูกวิธี โดยทั่วไปประเภทของการออมที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้มีด้วยกัน 5 แบบ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการนำไปลดหย่อนดังนี้
- ระบบการออมภาคบังคับ
- ประกันสังคม: ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้
- เบี้ยประกันชีวิต
- ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- หากรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
- กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป
- กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF)
- ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท
- ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทิน
- ปัจจุบันกองทุน LTF ถูกยกเลิกไปแล้วสำหรับการลงทุนใหม่ตั้งแต่ปี 2563 แต่สำหรับผู้ที่ซื้อกองทุนไว้ก่อนหน้านั้นยังคงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามกฎหมายเดิม
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- ลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- ต้องลงทุนต่อเนื่อง ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และถือครองจนอายุ 55 ปี
- ประกันสะสมทรัพย์
- ลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- กรมธรรม์ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
การวางแผนการเงินที่ดีควรผสมผสานทั้งการออม การลงทุน และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว การเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น สำหรับใครที่อ่านบทความนี้แล้ว อยากเริ่มลงทุนให้เงินงอกเงยด้วยการลงทุนกับประกันบำนาญหรือประกันสะสมทรัพย์ สามารถติดต่อเพื่อซื้อประกันผ่านทางออนไลน์หรือศึกษาแผนประกันของกรุงเทพประกันชีวิตเพิ่มเติม เข้าไปเยี่ยมชมหรือสมัครได้ที่เว็บไซต์ https://www.bangkoklife.com/online/th หรือ โทร 02-777-8888
หมายเหตุ
– โปรดทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไขและข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง
1 บริษัทอาจพิจารณาเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัยเพิ่มพิเศษให้ในช่วงรับเงินบำนาญ โดยจำนวนเงินเอาประกันภัยเพิ่มพิเศษนี้ จะขึ้นอยู่กับเงินปันผล ณ วันครบรอบปีกรมธรรมที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี ซึ่งคำนวณมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนของสินทรัพย์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์แบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล ตั้งแต่วันที่สัญญาเริ่มมีผลคุ้มครอง จนถึงวันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี หลังหักด้วยต้นทุนทั้งหมดของกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งบริษัทจะจัดสรรในอัตราร้อยละ 80 ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไข ข้อกำหนด และวิธีการคำนวณเงินปันผลที่บริษัทพิจารณา ณ วันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี
2 ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือขอใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยก่อนวันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 59 ปี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการไม่พิจารณาเพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัยเพิ่มพิเศษ
3 ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี หรืออาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทต่อปี กรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป
4 กรณีเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุ ปีกรมธรรม์ที่ 1-10 รับเพิ่ม 200% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท
5 กรณีเสียชีวิตทุกกรณี ปีกรมธรรม์ที่ 1-10 รับ 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือ 102% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมตามจริง หักด้วยเงินจ่ายคืนและเงินจ่ายคืนพิเศษที่จ่ายไปแล้ว (ถ้ามี) แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
**อ่านรายละเอียดเงื่อนไขฉบับเต็มได้ที่ https://www.rd.go.th/fileadmin/download/tax_deductions_update30072567.pdf และ https://www.rd.go.th/59674.html